อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง และแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไร ?

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันและหน้าที่ของมันกัน

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น คอมพิวเตอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือความบันเทิง และคอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายนอก และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายใน โดยในวันนี้ Kapook Tech จะพาไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละส่วนกันว่ามีบทบาทและความสำคัญต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 10 อย่าง มีอะไรบ้าง

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ภายนอก

อุปกรณ์ภายนอกคือสิ่งที่ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นและสัมผัสได้โดยตรง มักใช้เพื่อป้อนข้อมูลหรือแสดงผลข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์

1. หน้าจอมอนิเตอร์ (Monitor)

หน้าจอมอนิเตอร์ (Monitor)

หน้าจอมอนิเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เช่น ข้อความ ภาพ วิดีโอ หรือเกม โดยในปัจจุบันมีแพเนลหรือแผงหน้าจอให้เลือกหลากหลายแบบ เช่น TN, VA, IPS และ OLED ซึ่งจะมีข้อดีและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป มีให้เลือกหลากหลายขนาด และมีความละเอียดตั้งแต่ Full HD ไปจนถึง 4K นอกจากนี้มอนิเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ยังมีอัตราการรีเฟรช (Refresh Rate) ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน 60Hz ไปจนถึงระดับสูง เช่น 144Hz หรือมากกว่านั้น ซึ่งเหมาะสำหรับการเล่นเกมหรือการทำงานที่ต้องการความลื่นไหลในการเคลื่อนไหวของภาพ

2. เคส (Case)

เคส (Case)

ภาพจาก : shutterstock.com / Den Rozhnovsky

เคสคอมพิวเตอร์เป็นโครงสร้างหรือกล่องที่ใช้บรรจุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายในทั้งหมด เช่น เมนบอร์ด ซีพียู และฮาร์ดดิสก์ นอกจากจะป้องกันอุปกรณ์จากฝุ่น ความชื้น และการกระแทกแล้ว ยังช่วยระบายความร้อนได้ดีหากออกแบบระบบการระบายอากาศอย่างเหมาะสม เคสมีหลากหลายขนาด เช่น ATX, Micro ATX และ Mini ITX ซึ่งจะรองรับอุปกรณ์ภายในที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้ใช้งาน

3. คีย์บอร์ด (Keyboard)

คีย์บอร์ด (Keyboard)

คีย์บอร์ดเป็นอุปกรณ์หลักในการป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีทั้งแบบมีสายและไร้สาย โดยปัจจุบันจะมีทั้งคีย์บอร์ดแบบปุ่มยางทั่วไปหรือที่เรียกว่า Membrane Keyboard และ Mechanical Keyboard ที่มีแบ่งแยกย่อยออกเป็นสวิตช์แบบต่าง ๆ เช่น Blue Switch ที่มีเสียงเวลากด หรือ Red Switch ที่เน้นเสียงเงียบ นอกจากนี้ในบางรุ่นมียังฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ เช่น ปุ่มมาโคร ปุ่มลัด และไฟ RGB ที่สามารถปรับแต่งได้ เป็นต้น

4. เมาส์ (Mouse)

เมาส์ (Mouse)

เมาส์เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ควบคุมเคอร์เซอร์บนหน้าจอ ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์มีความสะดวกและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปมีทั้งแบบ Optical และ Laser ซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวบนพื้นผิวได้ดี บางรุ่นมีปุ่มเพิ่มเติมเพื่อการใช้งานเฉพาะทางอย่างเช่นการเล่นเกม รวมทั้งมีแบบไร้สายที่ให้ความสะดวกโดยไม่ต้องใช้สายต่อเช่นเดียวกับคีย์บอร์ด

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ภายใน

อุปกรณ์ภายในเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ภายในเคสของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ประมวลผลและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้ตามคำสั่งของผู้ใช้

5. เมนบอร์ด (Mainboard)

เมนบอร์ด (Mainboard)

เมนบอร์ดมีอีกชื่อเรียกว่า Motherboard เป็นแผงวงจรหลักที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น CPU, RAM, การ์ดจอ, อุปกรณ์เก็บข้อมูล หรืออุปกรณ์เสริมอื่น ๆ โดยจำเป็นจะต้องมีการรองรับซึ่งกันและกัน เช่น Socket ของ CPU, เวอร์ชั่น DDR ของแรม และอื่น ๆ รวมถึงมีพอร์ตเชื่อมต่อภายนอก เช่น USB, HDMI, Audio และ Ethernet นอกจากนี้เมนบอร์ดยังมีทั้งขนาด ATX, Micro ATX และ Mini ITX ที่จำเป็นต้องเลือกขนาดเหมาะสมกับเคสด้วย เพราะถ้าหากเมนบอร์ดขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้ไม่สามารถใส่กับเคสได้

6. ซีพียู (CPU)

ซีพียู (CPU)

CPU (Central Processing Unit) หรือหน่วยประมวลผลกลาง เปรียบเสมือนเป็นสมองและหัวใจหลักของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ประมวลผลคำสั่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ การควบคุมอุปกรณ์ หรือการจัดการกับข้อมูล โดยความเร็วในการประมวลผลของ CPU จะขึ้นอยู่กับความสูงของ Clock Speed ที่มีหน่วยเป็น GHz รวมทั้งจำนวน Core และค่า Cache

7. แรม (RAM)

แรม (RAM)

RAM (Random Access Memory) เป็นหน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อมูลชั่วคราวขณะเปิดโปรแกรมต่าง ๆ มีความเร็วในการอ่านและเขียนสูงกว่าฮาร์ดดิสก์และ SSD ซึ่งถ้าหาก RAM มีขนาดมากพอก็จะช่วยให้สามารถเปิดหลายโปรแกรมพร้อมกันได้โดยไม่ทำให้เครื่องช้าลง โดยความเร็วของแรมนั้นจะขึ้นอยู่กับค่าที่เรียกว่า Bus Speed มีหน่วยเป็น MHz

8. การ์ดจอ (Graphic Card)

การ์ดจอ (Graphic Card)

การ์ดจอ หรือ GPU (Graphics Processing Unit) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการประมวลผลกราฟิกภาพ โดยทำงานร่วมกับ VRAM ที่ใช้เก็บข้อมูลกราฟิกชั่วคราว เพื่อความรวดเร็วในการประมวลผลและแสดงผลภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับคอมพิวเตอร์ที่เน้นการเล่นเกมหรือใช้ทำงานด้านกราฟิกต่าง ๆ โดยในปัจจุบัน CPU หลาย ๆ รุ่นจะมี GPU ในตัว แต่หากใช้การ์ดจอแยกจะมีพลังประมวลผลสูงกว่า เหมาะสำหรับงานเฉพาะทางหรือการเล่นเกมที่มีกราฟิกระดับสูง

9. ฮาร์ดดิสก์และ SSD (Storage)

ฮาร์ดดิสก์และ SSD (Storage)

Storage คืออุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบถาวร เช่น ไฟล์โปรแกรม เอกสาร หรือระบบปฏิบัติการ โดยในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็นฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน (HDD) มีความจุสูง ราคาถูก แต่ความเร็วในการอ่านและเขียนต่ำ ในขณะที่ SSD (Solid State Drive) จะใช้เทคโนโลยี Flash Memory ซึ่งเป็นหน่วยความจำแบบไม่มีส่วนเคลื่อนที่ จึงทำงานได้รวดเร็วกว่ามาก ช่วยให้บูตเครื่อง เปิดโปรแกรม รวมถึงการโหลดขณะเล่นเกมมีความรวดเร็วมากขึ้น แต่มีราคาต่อขนาดความจุที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์

10. พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply)

พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply)

Power Supply หรือ PSU คืออุปกรณ์ที่แปลงไฟฟ้าจากปลั๊กบ้านให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อจ่ายให้กับอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์ทุกชิ้น การเลือก PSU ที่มีคุณภาพดีและกำลังวัตต์เพียงพอนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากจ่ายไฟได้ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้อุปกรณ์ภายในทำงานไม่เสถียรหรือมีปัญหาในระยะยาว โดยทั่วไปแล้วคอมพิวเตอร์ที่มีสเปกระดับสูงรวมถึงการใช้การ์ดจอแยกมักจะจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น และ PSU ที่ดีควรผ่านมาตรฐาน 80 Plus ที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการจ่ายไฟด้วย

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละชิ้นนั้นถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ภายนอกที่ทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับระบบได้ หรืออุปกรณ์ภายในที่ทำหน้าที่หลักในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งการเข้าใจหน้าที่ของแต่ละชิ้นส่วนจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกสเปกหรืออัปเกรดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานได้ดียิ่งขึ้นครับ

บทความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เรื่องอื่น ๆ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง และแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไร ? โพสต์เมื่อ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 16:43:40
TOP